ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร? ต้องเสียเมื่อไหร่?

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “ภาษีที่ดิน” เป็นภาษีรายปีที่คิดตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการเรียกเก็บภาษี มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 และเริ่มจัดเก็บภาษีครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคิดจากอะไร

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่คนสามารถอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคาร คอนโด โกดัง นับว่าต้องเสียภาษีทั้งหมด โดยใช้มูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในการคำนวณ แบ่งออกเป็น 3 รายการดังนี้

  • ที่ดิน : ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน
  • สิ่งปลูกสร้าง : ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง
  • สิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด : ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด

โดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ และอัตราภาษีที่เรียกเก็บในแต่ละปี ซึ่งราคาประเมินทุนทรัพย์นั้นจะเป็นราคาเดียวกันกับราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมที่ดิน

อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

อัตราภาษีจะแตกต่างกันตามประเภทของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้

  1. ที่อยู่อาศัย

    • บ้านหลังแรก (มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท) ได้รับยกเว้น
    • บ้านหลังที่สองขึ้นไป หรือมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.02%-0.1%
  2. ที่ดินเกษตรกรรม

    • บุคคลธรรมดา ได้รับยกเว้นในช่วงแรก
    • นิติบุคคล เสียภาษี 0.01%-0.1%
  3. ที่ดินเชิงพาณิชย์ (เช่น โรงแรม อาคารพาณิชย์)

    • เสียภาษี 0.3%-1.2% ตามมูลค่าทรัพย์สิน
  4. ที่ดินรกร้าง หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์

    • เสียภาษีสูงขึ้นทุก 3 ปี เริ่มต้นที่ 0.3% และอาจสูงถึง 3%

วิธีคำนวณภาษีที่ดิน พร้อมตัวอย่างการคำนวณ

การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ยากอย่างที่คิด เมื่อเราได้ศึกษารายละเอียดอัตราการเสียภาษีของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทข้างต้นมาแล้ว ก็ลองหยิบปากกาและเครื่องคิดเลขมาคำนวณตามสูตรกันได้ตามตัวอย่างนี้เลย

สูตรการคำนวณภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร คือ

มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษีที่ดิน = ภาษีที่ต้องจ่าย

ตัวอย่างการคำนวณ:

A เป็นเจ้าของบริษัทสีข้าว จดทะเบียนในนามนิติบุคคล มีที่ดินเพื่อการเกษตรสำหรับปลูกข้าวมูลค่า 90 ล้านบาท

  • อัตราภาษีที่ดินของนิติบุคคลเพื่อการเกษตรมูลค่า 75-100 ล้านบาท อยู่ที่ 0.03%
  • คิดเป็น 90,000,000 x 0.03% = 27,000 บาท
  • ดังนั้น A มีภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรที่ต้องจ่าย คือ 27,000 บาท